ผ้า 7 สี หรือ ผ้าหลากหลายสีที่นิยมผูกกันตามต้นไม้ใหญ่ หรือจะเป็นยานพาหนะต่าง ๆ ทั้งรถ เรือ ที่เราเห็นกันเป็นประจำ หลายคนอาจจะสงสัยถึงที่มาที่ไป ว่าทำไมถึงจะต้องนำมาผูก วันนี้ นั่งทางรวย จะพาไปรู้ถึงเรื่องราวนี้กัน
ย้อนกลับไปสมัยก่อนนั้น การทอผ้าชนิดต่าง ๆ ต้องผ่านขั้นตอนการทำอย่าพิถีพิถัน เนื่องจากยังไม่มีเครื่องจักรเหมือนในปัจจุบัน การถักทอจึงต้องทำด้วยมือ และอาศัยความประณีตอย่างมากในการถัก กว่าจะได้แต่ละผืนก็ต้องใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นผ้าที่ทอได้ก็จะมอบให้คนที่ตัวเองรัก พ่อ แม่ ลูก พระ และก่อนที่จะมีศาสนาคนโบราณเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่ ภูเขา แม่น้ำ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอยู่ เพราะฉะนั้นการเอาผ้าไปผูกไปพันรอบๆ สิ่งเหล่านั้นก็เพื่อหวังว่าสิ่งสถิตที่อยู่ในนั้น จะได้ใช้ประโยชน์จากผ้าเหล่านั้นตามความเชื่อไม่ว่าจะวิธีใด
เพราะฉะนั้นสามารถกล่าวได้ว่า ผ้าทอมือสมัยโบราณ เปรียบเสมือนตัวแทนของความรัก ที่ผู้ทอต้องการทำเพื่อคนที่ตัวเองรักหรือบูชาจริงๆ หรือสังเกตได้ง่ายจากเครื่องราชบรรณาการสมัยก่อน ผ้าแพร คือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เมืองขึ้นจะต้องถวายให้กับกษัตริย์เป็นเครื่องราชบรรณาการ
ทำไมต้องใช้ ผ้า 7 สี คนโบราณอาจจะคำนึงต่อไปว่าหนึ่งสัปดาห์มี ๗ วัน แต่ละวันมีเทวดาประจำ เทวดาทั้งเจ็ดมีสีต่าง ๆ กัน คงจะเป็นมงคลถ้าเราจะเคารพและปฏิบัติบูชาต่อท่านทั้ง ๗ วัน จึงเกิดเป็นธรรมเนียมการร้อยพวงมาลัย 7 สี 7 ศอกขึ้น
แต่ถ้าตามโบราณจริงๆ จะเป็นผ้าแพร 9 สี แทนเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙
พระอาทิตย์ สีแดง
พระจันทร์ สีขาวนวล
พระอังคาร สีชมพู
พระพุธ สีเขียว
พระพฤหัส สีเหลืองหรือสีหมากสุก
พระศุกร์ สีฟ้า
พระเสาร์ สีดำ
พระราหู สีสัมฤทธิ์
พระเกตุ สีทอง
ปกติมักจะผูกตอนตั้งศาล ในภูมิปาโลฤกษ์ หรือ มหัทธโนฤกษ์ เทวีฤกษ์ และราชาฤกษ์ ในกรณีที่หาภูมิปาโลฤกษ์ไม่ได้ครับ แต่ถ้าจะผูกเพื่อถวายการบูชาในวันปกติหลังการสังเวยก็ไม่ต้องดูฤกษ์ครับ เพียงแต่ให้ดูทิศประจำวันในการเข้าไปเท่านั้นเอง
วันอาทิตย์ ให้เข้าไปทาง ทิศประจิม
วันจันทร์ ให้เข้าไปทาง ทิศพายัพ
วันอังคาร ให้เข้าไปทาง ทิศอุดร
วันพุธ ให้เข้าไปทาง ทิศอิสาน
วันพฤหัส ให้เข้าไปทาง ทิศบูรพา
วันศุกร์ ให้เข้าไปทาง ทิศทักษิณ
วันเสาร์ ให้เข้าไปทาง ทิศอาคเณย์
มานั่งทางรวย เพิ่มเติมได้ที่ นั่งทางรวย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก บทความเลขศาสตร์